โคมทำมาจากไม้ไผ่กับกระดาษสา ผ่านการคิดอ่านแต่งสร้างมาสักเท่าไรไม่รู้จึงจะลงตัวอย่างที่เห็นๆ บางคนอาจบอกว่าไม่น่าเสียเวลาคิดเลย โคมจีนก็มี เราเองก็สันถวะเสพส้องกับจีนมานมนานกาเล สั่งซื้อเอาก็ได้ ง่ายดี
แต่คนโบราณอาจไม่คิดเหมือนเรา
ไม่แน่ใจว่าคนโบราณล้านนาคิดขึ้นเองหรือได้ไอเดียมาจากแว่นแคว้นแดนใด น่าจะคิดขึ้นเองมากกว่า เพราะความจำเป็นในการใช้สอยมีแล้ว วัตถุดิบในท้องถิ่นก็มีพรั่งพร้อมทั้งไม้ไผ่และกระดาษสา กรรมวิธีการเอาเยื่อสามาแช่น้ำแล้วช้อนแตะให้ติดกันเป็นแผ่นบางๆ ทำกันมาแต่ชั่วรุ่นไหนแล้วไม่รู้ อย่างน้อยคงทำเป็นตั้งแต่เริ่มรู้จักใช้ตัวหนังสือโน่นกระมัง
คงคิดๆ ฝันๆ แล้วลองผิดลองถูกกันมา อาจกินเวลาหลายชั่วคน แล้วค่อยลงตัวให้เราพบเห็นเป็นของดีของงามอย่างในปัจจุบันนี้
โคมมีหลายแบบ แบบที่เอารูปมาลงนี้เรียกว่าโคมแขวน ไม่ใช่โคมลอย มักจะแขวนไว้สูงๆ สุดปลายไผ่ปลายพร้าว ยามลมเหนี่ยวน้าวโคมแขวนแกว่งไหว หางไหวที่ห้อยย้อยลงมายาวๆ มักพลิ้วพะเยิบพะยาบเป็นภาพชวนฝัน แต่ดั้งเดิมสมัยที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้นั้น ข้างในโคมเขาใส่ผางประทีปเป็นเครื่องให้แสง เดี๋ยวนี้มีไฟฟ้าใช้ ต่อหลอดไฟเข้าใส่แล้วเปิดไฟสะดวกดี งาม เป็นส่วนผสมที่กลมกลืนระหว่างเก่ากับใหม่ มักพบเห็นทั่วไปในงานเลี้ยงหรืองานสังสรรค์นอกสถานที่
โคมแขวนเองก็มีหลายรูปหลายแบบ ใหญ่ๆ เล็กๆ แล้วแต่ประโยชน์ใช้สอยและความสามารถใน
การประดิดประดอย แต่เดิมมานั้นโคมแขวนไม่ใช่ของซื้อของขาย เป็นของทำได้เอง จะทำกันมากในช่วงเทศกาลยี่เพ็ง พอถึงคืนเพ็งพวกเราชาวบ้านนอกขอกแดนทั้งหลายจะจุดประทีปเรียงรายเต็มราวรั้วและเต็มหน้าบ้านชานเรือน ส่วนที่ประตูรั้วก็จะแขวนโคม นอกจากที่บ้าน พวกเรายังเอาไปแขวนเป็นพุทธบูชาไว้ที่วัด เดือนยี่เพ็งโดยทั่วไปจะมีงานใหญ่ที่วัด ไม่ใช่งานสนุกสนานรื่นเริงมีมหรสพอย่างปอยหลวง แต่เป็นงานหนักไปทางบุญ นั่นคือการตั้งธรรมหลวงหรือการเทศนาพระมหาชาติชาดกสิบสามกัณฑ์ เป็นงานใหญ่งานหลวงทรงความขลังศักดิ์สิทธิ์และวิจิตรอลังการมาก นอกจากขนมจ็อก ขนมปาด และข้าวต้มข้าวหนมอื่นๆ แล้ว ยี่เพ็งยังมีความคิดฝันมากมายให้แก่เด็กๆ เสียดายแต่เดี๋ยวนี้ประเพณียี่เพ็งจืดกร่อยและกลายรูปไปเกือบหมดแล้ว มีไม่กี่แห่งที่ยังจัดได้ตามความหมายดั้งเดิม
หากจะเล่าถึงปอยบุญยี่เพ็งก็จะยืดยาวล้นกรอบ ขอตัดแต่เพียงว่าโคมแขวนเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของยี่เพ็ง
ปัจจุบันแหล่งผลิตโคมใหญ่ๆ อยู่ที่บ้านเมืองสาตร ตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พ่อครูแม่ครูผู้ทรงฝีมือในการประดิษฐ์โคมได้แก่พ่อน้อยสิงห์แก้ว มโนเพ็ชร (คุณพ่อของคุณจรัล มโนเพ็ชร) แม่ครูบัวไหล บ้านเมืองสาตร พ่อครูเสถียร ณ วงศ์รักษ์ เป็นต้น
ลูกประคบ ” ภูมิปัญญาไทยเพื่อคนไทย
“สูงสุด คืนสู่สามัญ” คำกล่าวนี้ยังเป็นจริงอยู่ทุกเมื่อ เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะเจริญก้าวไกลเพียงใด แต่ท้ายที่สุดมนุษย์ก็ต้องหวนกลับมาพึ่งพิงสิ่งที่เป็นต้นกำเนิดการแสการนำสมุนไพร กับภูมิปัญญาไทยมาใช้ในการดูแลสุขภาพ เป็นเรื่องที่กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั้งชาวไทยและชาวโลก หนึ่งในภูมิปัญญาไทยที่น่าภาคภูมิใจและมีการใช้อย่างแพร่หลาย คือ “ลูกประคบ” ซึ่งมีสรรพคุณทั้งในด้านการบำบัดรักษาโรค ขณะเดียวกันก็สามารถนำไปใช้เพื่อดูแลสุขภาพความงามได้อีกด้วยลูกประคบเป็นภูมิปัญญาไทยที่มีการใช้มาตั้งแต่อดีต ซึ่งสามารถทำใช้ได้อย่างง่ายๆ ด้วยการนำสมุนไพรมาห่อด้วยผ้าแล้วนำไปนึ่ง และนำมาประคบที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งมักใช้ควบคู่กับการนวดแบบไทย โดยการทำการประคบหลังจากนวดเสร็จแล้วลูกประคบไทยมี 2 ชนิดคือ ลูกประคบสด และลูกประคบแห้ง ซึ่งมีความแตกต่างกันตรงที่ส่วนผสมของลูกประคบแห้งนั้นจะต้องนำไปตากแห้งก่อนที่จะนำมาตำรวมกัน และจะมีอายุการใช้งานนานกว่าลูกประคบสด คือสามารถเก็บได้เป็นเดือน ส่วนลูกประคบสดนั้นเก็บไว้ได้ประมาณ 10 วันเท่านั้น แต่ได้ผลดีกว่าการใช้ลูกประคบแห้งส่วนใหญ่แล้วลูกประคบจะประกอบด้วยสมุนไพร 9 ชนิด ที่มีสรรพคุณแตกต่างกันไป ช่วยให้ลูกประคบเป็นสมุนไพรที่เรียกได้ว่า เป็นสมุนไพรสารพัดประโยชน์ เช่น เหง้าไพล ที่แก้ปวดเมื่อย ลดการอักเสบ ผิวมะกรูด ที่มีน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน ตะไคร้ ที่มีกลิ่นหอมสดชื่น ใบมะขาม แก้อาการคันตามร่างกาย ช่วยบำรุงผิว ขมิ้นชัน ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง ใบส้มป่อย ช่วยบำรุงผิว แก้โรคผิวหนัง ลดความดันโลหิต เกลือแกง ช่วยดูดความร้อนและช่วยพาตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้สะดวกขึ้น การบูร บำรุงหัวใจ แก้พุพอง และ พิมเสน ช่วยบำรุงหัวใจ แก้หวัดส่วนผสมเหล่านี้ถูกนำมารวมกันโดยหั่นหัวไพล ขมิ้นชัน ต้นตะไคร้ และผิวมะกรูดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาตำพอหยาบๆ หลังจากนั้นนำใบมะขาม ใบส้มป่อย ผสมเข้าไป แล้วใส่เกลือกับการบูร คลุกเคล้าให้เป็นเนื้อเดียวกัน ต้องระวังอย่าให้แฉะเป็นน้ำ แล้วนำไปใส่ผ้าดิบห่อเป็นลูกประคบ รัดด้วยเชือกให้แน่นการเก็บรักษาลูกประคบ ควรเก็บไว้ในตู้เย็น เพราะจะทำให้เก็บได้นานขึ้น และควรหมั่นตรวจลูกประคบ ถ้ามีกลิ่นบูดหรือเหม็นเปรี้ยว หรือถ้าลูกประคบไม่มีสีเหลืองหรือสีเหลืองอ่อนลง แสดงว่ายาที่ใช้มีคุณภาพน้อยลง จะใช้ไม่ได้ผล ควรเปลี่ยนลูกประคบใหม่ก่อนใช้ต้องนำลูกประคบไปนึ่งประมาณ 20 นาที ทั้งนี้ สำหรับลูกประคบแห้งจะต้องนำมาพรมน้ำพอหมาดๆ ก่อนที่จะนำไปนึ่งด้วย จากนั้นก็นำมาประคบในบริเวณที่ต้องการได้เลย แต่ต้องระวังอย่าใช้ลูกประคบที่ร้อนเกินไป โดยเฉพาะ กับบริเวณผิวหนังอ่อนๆ หรือบริเวณที่เป็นแผลอักเสบในช่วง 24 ชั่วโมงแรก และในบุคคลที่เป็นอัมพาต เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเบาหวานความร้อนจากลูกประคบจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ช่วยให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น อีกทั้งกลิ่นจากน้ำมันหอมระเหยยังช่วยให้เกิดความสดชื่น และผ่อนคลายความเครียดได้ด้วยนอกจากนี้ ลูกประคบยังสามารถนำไปใช้ในการอยู่ไฟของหญิงหลังคลอดบุตร ทำให้มดลูกเข้าอู่ได้สนิท ลดไขมันหน้าท้องยุบ และช่วยให้น้ำคาวปลาไหลสะดวกมากขึ้น โดยใช้เวลาทำในตอนเช้าเพียงครั้งละไม่เกิน 3 ชั่วโมง และทำติดต่อกัน 3-5 วันเท่านั้นหลังจากการประคบสมุนไพร ไม่ควรอาบน้ำทันที เพราะจะไปชะล้างตัวยาออกจากผิวหนัง และอุณหภูมิของร่างกายยังปรับเปลี่ยนไม่ทัน อาจจะทำให้เป็นไข้ได้ลูกประคบกำลังเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ ทั้งจากยุโรป อเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศสโลเวเนีย เนื่องจากสรรพคุณที่หลากหลาย และยังสามารถนำเข้าได้ง่าย เนื่องจากไม่ขัดกับข้อตกลงของ FTA ด้วย เพราะสมุนไพรในลูกประคบไม่ถือเป็นตัวยา และไม่ต้องนำเข้าสู่ร่างกายการทำลูกประคบสามารถทำได้ง่ายๆ เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง หรือทำเป็นอาชีพก็ได้ ผู้สนใจสามารถเข้ารับการอบรมได้ฟรี ภายในงาน “มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 1” ที่จัดโดย กระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 1-5 กันยายน 2547 ที่ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นอกจากนี้ ยังมีการอบรมระยะสั้นฟรีอีก 10 หลักสูตร ได้แก่ นวดตัวเองด้วยผ้าขาวม้า นวดในครัวเรือน ชี่กง อยู่ไฟ โยคะพื้นฐาน กดจุด นวดทารก เครื่องประทินผิว และเครื่องหอมไทย ฯลฯ สำรองที่นั่งโทร. 0-2591-7808-9